สัปดาห์ที่ 1

-
พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์
วันครบกำหนดครรภ์ของคุณแม่คำนวณจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์นับจากวันนั้น หมายความว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อย่างแท้จริง ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 40 สัปดาห์ ลูกน้อยก็จะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น จากเมล็ดถั่วเมล็ดจิ๋วจนใหญ่เท่าลูกแตงโม
-
ร่างกายของคุณแม่และอาการต่าง ๆ ในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์แรกคุณแม่บางท่านอาจจะยังไม่มีอาการใด ๆ ที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ ความรู้สึกไม่สบายตัวในสัปดาห์นี้จะมาจากการมีประจำเดือน ด้วยเหตุนี้ก็เลยรู้สึกเหมือนปกติที่เป็นกัน คุณผู้หญิงบางท่านอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยขณะมีประจำเดือน แต่สำหรับท่านอื่น ฮอร์โมนในร่างกายที่ผันผวนอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น
- ท้องอืด
- ตะคริว
- เหนื่อยล้า
- คัดเต้านม
- ปวดหัว
- อยากอาหาร
- อารมณ์แปรปรวน
-
เคล็ดลับสำหรับสัปดาห์นี้
ประเมินโภชนาการของคุณแม่
อาหารที่ดี สมดุลต่อสุขภาพและเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ได้รับวิตามิน แร่ธาตุและสารอาหารอย่างเพียงพอขณะกำลังตั้งครรภ์เจ้าตัวน้อย โภชนาการที่ดีจะให้พลังงานและช่วยเยียวยาความรู้สึกไม่สบายตัวจากการตั้งครรภ์ อีกทั้งยังเสริมสร้างสุขภาพของครรภ์ สุขภาพของเจ้าตัวน้อยในระยะยาว
เติมกรดโฟลิก
ร่างกายจะทำงานหนักขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แถมยังต้องการสารอาหารจำนวนมากเพื่อบำรุงทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์ เตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับลูกน้อยด้วยการกินกรดโฟลิก (folic acid) 400 ไมโครกรัมทุกวัน งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการบริโภคกรดโฟลิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลายเดือนก่อนการตั้งครรภ์จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งกับคุณแม่และทารก รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart defect) ของลูก โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes) และการคลอดก่อนกำหนด (preterm labor) ของคุณแม่
เลิกสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ (fertility) ลดลง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อีกด้วย อีกทั้งการสูบบุหรี่ในช่วงที่ตั้งครรภ์ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy) ยิ่งถ้าสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์มากขึ้น เช่น อวัยวะผิดปกติ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (placental abruption) ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ (premature rupture of membranes) และคลอดก่อนกำหนด ควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์เกี่ยวกับควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ว่ามีประวัติการสูบบุหรี่ และขอคำแนะนำในการหยุดสูบ
พยายามผ่อนคลาย
การเล่นโยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือหรือกิจกรรมยามว่าง ช่วยทำให้คุณแม่ผ่อนคลาย มีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีระดับเอนไซม์อัลฟา – อะไมเลส (alpha – amylaseอ) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเครียดในน้ำลายมากจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงถึง 29 เปอร์เซ็นต์
มองหาสัญญาณของการตกไข่
เมื่อถึงช่วงที่มีภาวะเจริญพันธุ์สูงสุด มูกที่ปากมดลูกจะเพิ่มขึ้นจนรู้สึกเหนียวเหนอะหนะ ขึ้นอยู่กับว่ารอบเดือนกินเวลานานเท่าใด ปกติแล้วภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 7 – 21 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย หากต้องการทราบว่าจะตกไข่เมื่อไหร่ สามารถใช้ชุดทดสอบการตกไข่ซึ่งทำงานโดยการวัดระดับของลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing hormone) ในปัสสาวะ สัญญาณอื่น ๆ ของการตกไข่ที่ควรสังเกต ได้แก่ อุณหภูมิของร่างกายที่ลดลงเล็กน้อย (จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง) อาจมีอาการมีเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนออกมาจากช่องคลอด หรือเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก (เป็นอาการของคนท้อง ไม่อันตรายและไม่ได้เป็นทุกคน) ปวดตะคริวที่ท้องน้อย และแรงขับทางเพศที่เพิ่มขึ้น -
เช็กลิสต์ประจำสัปดาห์นี้
- กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น
- กินวิตามินบี 9 วิตามินรวมหรือวิตามินก่อนคลอดที่มีกรดโฟลิกหรือ L – methylfolate
- ใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีโดยไม่ดื่มหรือใช้ยา (ถ้าสูบบุหรี่ต้องเลิก)
- เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
- จดบันทึกรอบเดือน 1 – 2 ครั้งล่าสุด
- พาคุณพ่อไปตรวจสุขภาพด้วยกันเพื่อตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือโครโมโซม
-
คำแนะนำถึงคุณพ่อ
การตั้งครรภ์เป็นเรื่องของคน 2 คน หมายความว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ให้ดี ก่อนที่จะพยายามตั้งครรภ์ ทั้งคู่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted diseases) อีกทั้งควรปรับปรุงอนามัยการเจริญพันธุ์ (reproductive health) โดยจำกัดแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่และยา จากกงานวิจัยพบว่าผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่จัด หรือใช้ยาเสพติด อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ ทำให้การตั้งครรภ์เกิดยากขึ้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือต้องพูดเปิดใจถึงความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่าย เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และความคาดหวัง เมื่อเริ่มตั้งครรภ์แล้วสนทนาด้วยความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น จะช่วยให้สามีภรรยามีการเชื่อมต่อที่ดีซึ่งกันและกัน ก้าวผ่านเส้นทางนี้และประสบความสำเร็จในการเป็นพ่อแม่ด้วยกัน -
คำถามที่พบบ่อย
Q : จะทดสอบการตั้งครรภ์ที่บ้านได้เร็วสุดเมื่อไหร่
A : บรรจุภัณฑ์ของชุดทดสอบการตั้งครรภ์บางชิ้นระบุว่าเป็นการตรวจฮอรโมน hCG ก่อนที่ประจำเดือนจะขาด ปริมาณ hCG ในปัสสาวะของผู้หญิงอาจแตกต่างกันไปจนถึงช่วงที่จะขาดประจำเดือน ผู้หญิงบางคนอาจทดสอบแล้วได้ผลบวกก่อนช่วงที่ขาดประจำเดือน ในขณะที่บางคนอาจได้ผลต่างออกไป ดังนั้นควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ชุดทดสอบการตั้งครรภ์เพื่อทำความเข้าใจก่อนตรวจทุกครั้ง -
สินค้าแนะนำของสัปดาห์นี้
วิตามินบำรุงก่อนคลอด
วิตามินบำรุงก่อนคลอดไม่สามารถทดแทนโภชนาการที่เหมาะสมได้ แต่ช่วยเติมเต็มสารอาหารที่ร่างกายขาดแคลน นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ดีในการทำให้คุณแม่รู้สึกมั่นใจว่าได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนอยู่เสมอ ปกติวิตามินบำรุงก่อนคลอดจะประกอบด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินดี และสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น กรดโฟลิก อย่างไรก็ตาม วิตามินเสริมแต่ละยี่ห้ออาจมีสารอาหารที่แตกต่างกันไป ดังนั้นโปรดอ่านฉลากอย่างละเอียดหรือสอบถามแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนใช้ยา
ข้อมูลจาก whattoexpect.com , parents.com , kidshealth.org , verywellfamily.com